top of page

         หน้าแรก  > ข่าวสาร > ตลาดข้าวสารอยู่ที่ไหน

ตลาดข้าวสารอยู่ที่ไหน

ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกข้างลำดับที่หกของโลกผลผลิตข้าวสารประมาณปีละประมาณ 21-23 ล้านตัน คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักทุกมื้อ แต่ละปีจะบริโภคข้าวสารประมาณปีละ 10 -11 ล้านตัน ที่เหลือจากการบริโภคภายใน ก็ส่งออกประมาณปีละ 9-10 ล้านตัน

 

ข้าวสารเพื่อการบริโภคแต่ละครัวเรือน รวมทั้งที่ใช้ในกิจการร้านอาหารมีปริมาณที่จะซื้อแต่ละครั้งไม่มากนัก เข้าลักษณะเป็นการซื้อปลีก สามารถหาซื้อได้ จากพ่อค้าเร่ ที่เร่ขายทางเรือหรือรถยนต์

 

แม้ปัจจุบันจะมีไม่มากนัก แต่ก็ยังคงมีการเร่ขายอยู่ หรือซื้อจากแผงในตลาดสด ที่เป็นแผงขายข้าวสารโดยเฉพาะ หรือแผงขายโชห่วยที่มีข้าวสารขายก็ได้

 

นอกจากหาซื้อจากแผงในตลาดสดแล้ว ก็อาจหาซื้อได้จากร้านตึกแถวที่ขายข้าวสาร หรือขายโชห่วยที่ขายข้าวสารด้วยก็มี

 

ารขายปลีกข้าวสาร เดิมใช้ตวงขายเป็นลิตร เป็นถัง บางร้านตวงขายเป็นกระป๋องนมให้คนหาเช้ากินค่ำ พอหุงได้แต่ละมื้อ

 

ในเวลาต่อมา การขายปลีกข้าวสารมีวิวัฒนาการ บรรจุเป็นข้าวถุง ถุงละ 1 กิโลกรัมถึง 2 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม ซึ่งหาซื้อได้ ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย และห้างค้าปลีกทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ โดยมีผู้ประกอบกิจการผลิตข้าวถุงที่ใช้เครื่องหมายการค้าของตนเองมากมายหลายรายเป็นผู้ผลิตและวางจำหน่าย แต่ก็ยังมีแผงและร้านขายข้าวสารที่ตวงขายแต่ปัจจุบันส่วนมากจะขายตามน้ำหนัก

พ่อค้าเร่และร้านขายปลีกที่เป็นแผงในตลาดและร้านตามตึกแถว เป็นผู้ขายปลีกที่คนในวงการค้าขายเรียกกันว่าซาปั๊ว ซึงส่วนมากจะซื้อข้าวสารจากร้านขายส่งที่เรียกว่ายี่ปั๊วมาขายอีกทอดหนึ่ง

ร้านขายส่งหรือยี่ปั๊วส่วนมากจะซื้อข้าวสารผ่านหยงรายเล็ก สำหรับการขนส่งข้าวสารที่ซื้อขาย ผู้ซื้ออาจไปรับข้าวเองหรือให้ผู้ขายขนมาส่งให้ก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน

ผู้ผลิตข้าวถุง ถ้ามีโรงสีของตนเองก็จะใช้ข้าวส่วนหนึ่งจากโรงสีของตน หากไม่พอก็สั่งซื้อจากโรงสีอื่น ผู้ผลิตข้าวถุงบางรายนอกจากสั่งซื้อข้าวจากโรงสีแล้ว ก็ยังอาจจ้างโรงสีที่ไว้วางใจ ให้ปรับปรุงคุณภาพข้าวและบรรจุในถุงที่มีเครื่องหมายการค้าของตนเองอีกต่างหากก็มี

ส่วนผู้ส่งออก ที่ต้องซื้อข้าวสารเพื่อการส่งออกในปริมาณมาก แหล่งที่จะมีข้าวปริมาณมากป้อนให้ผู้ส่งออกได้ คือบรรดาโรงสีต่างๆ ทั่วประเทศ แม้ผู้ส่งออกบางรายจะมีโรงสีของตนเอง ก็ไม่พอต่อการส่งออก ก็ต้องหาซื้อเพิ่มเติมจากโรงสีอื่น

ผู้ส่งออกและโรงสีติดต่อซื้อขายข้าวกันโดยผู้ส่งออกไม่ต้องตระเวนไปตามโรงสีและโรงสีก็ไม่ต้องนำข้าวมามาวางขาย ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง แต่ใช้วิธีสื่อสารติดต่อกันที่สะดวกคือทางโทรศัพท์ ที่นิยมทำกันมานานจนปัจจุบันคือผ่านทางคนกลาง จะเรียกว่านายหน้าก็ไม่ใช่ เป็นเอเย่นต์ก็ไม่เชิง คนกลางที่ว่าเรียกกันว่า "หยง" เป็นลักษณะเฉพาะของการซื้อขายข้าวและสินค้าเกษตรบางอย่าง

ในปี 2542 กระทรวงพาณิชย์ จัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประไทย ซึ่ง ข้าวเป็นสินค้าในรายการที่ให้มีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าด้วย มีโรงสีและผู้ส่งออกไปทำการซื้อขายข้าวในตลาดดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน

การซื้อขายข้าวระหว่างผู้สงออกกับโรงสี ยังคงนิยมติดต่อผ่านหยง แม้บางครั้งบางกรณีอาจมีผู้ส่งออกติดต่อซื้อขายโดยตรงกับทางโรงสีก็มีบ้างก็เป็นครั้งคราว

ระบบ การซื้อขายข้าวผ่าน "หยง" โดยสรุปคือ เมื่อโรงสีมีข้าวสารที่จะเสนอขาย ก็จะระบุชนิด ชั้นคุณภาพข้าวที่จะเสนอขายผ่าน "หยง"

ถ้าเป็นโรงสีที่ติดต่อซื้อขายกันมานานเชื่อถือได้ก็ไม่ต้องเสนอตัวอย่างข้าวที่จะเสนอขาย แต่ถ้าเป็นโรงสีรายใหม่หรือไม่เคยติดต่อกันมาก่อน ก็อาจต้องเสนอตัวอย่างข้าวให้หยงตรวจดูก่อน

ส่วนผู้ส่งออกข้าวถ้าได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหรือต้องการจัดหาข้าวสำรองไว้ ก็จะแจ้งผ่านหยง ว่าต้องการข้าวชนิดใด คุณภาพอย่างไร โดยเสนอราคาที่จะรับซื้อไปเลยก็ได้  

หยงก็จะเป็นคนกลางนำคำเสนอซื้อเสนอขายของโรงสีและผู้ส่งออกมาจับคู่ ถ้าเป็นที่ตกลงกันทั้งฝ่ายเสนอขายและเสนอซื้อ การซื้อขายก็เกิดขึ้นทั้งโรงสีและผู้ส่งออกนัดวันเวลาสถานที่ส่งมอบ กันต่อไป สำหรับผู้ที่ต้องเสียค่านายหน้าให้หยงคือฝ่ายโรงสี

เหตุที่ โรงสีและผู้ส่งออกนิยมติดต่อซื้อขาย ข้าวสารผ่านหยง เหตุผลหลักคือหยงมีเครือข่ายมีลูกค้าฝ่ายโรงสีกว้างขวามมากกว่าผู้ส่งออก ผู้ส่งออกต้องการข้าวชนิดใดจำเป็น เร่งด่วน หยงก็สามารถติดต่อหาให้ได้

ทางด้านโรงสีก็มีความสัมพันธ์หรือมีเครือข่ายด้านผู้ส่งออก น้อยกว่าหยง หากร้อนเงินจำเป็นต้องรีบขายข้าว หยงก็อาจจัดการให้ได้ และหยงบางรายอาจให้การสนับสนุนสินเชื่อให้โรงสีด้วยก็ได้

ประการสำคัญ การซื้อข้าวโดยตรงจากโรงสีผู้ส่งออกต้องชำระเงินสด แต่ถ้าผ่านหยง หยงมีช่วงเวลาให้สินเชื่อได้เป็นเวลา 30-60 วัน ส่วนทางโรงสีถ้าขายโดยตรงกับผู้ส่งออก อาจมีปัญหายังไม่ได้รับการชำระค่าข้าวให้ทันทีแต่ขายผ่านหยง เมื่อส่งมอบข้าว หยงชำระค่าข้าวแทนให้ผู้ส่งออกเลย

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงสรุปเป็นคำตอบได้ว่า ตลาดข้าวสารค้าปลีกเพื่อการบริโภคของครัวเรือนและร้านอาหารทั่วไป อยู่ที่เรือเร่ รถเร่ขายข้าวสาร แผงลอยในตลาดสด ร้านขายปลีกตามตึกแถว และร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีก ทั้งห้างใหญ่ห้างเล็ก ทั่วประเทศ

ส่วนตลาดข้าวสารสำหรับการส่งออกอยู่ที่การติดต่อซื้อขายโดยการสื่อสารกันผ่านหยง และระหว่างผู้ส่งออกกับโรงสี ไม่จำเป็นต้องมีตลาดที่เป็นสถานที่แต่อย่างใด

 

 

ที่มา : bangkokbiznews.com / คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "ค้าๆขายๆกับกฎหมายธุรกิจ"

สกล หาญสุทธิวารินทร์

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640681

bottom of page