top of page

         หน้าแรก  > ข่าวสาร > ไทยจะทวงแชมป์ ส่งออกข้าวคืนได้หรือไม่

รัฐขายข้าวแบบจีทูจี เป็นการแข่งกับเอกชนหรือไม่

12344545 copy.jpg

รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปี 2534 เป็นต้นมาจนถุงฉบับปัจจุบัน ในหมวดแนวนโยบายแห่งจะมีบทบัญญัติว่า รัฐต้องไม่ประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับเอกชน

รัฐธรรมนูญปี2560 ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตร75วรรคสองดังนี้

“รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณุปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ” ่

ในสมัยรัฐบาล คสช. นอกจากมีภาระต้องระบายข้าวในสต๊อกของรัฐจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่แล้วปริมาณ 18 ล้านตันเศษเพื่อลดค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ลดความเสื่อมเสียหายของข้าว และไม่ให้มีสต๊อกกดดันราคาข้าวภายในและต่างประเทศแล้ว ยังต้องส่งเสริมผลักดันให้สามารถส่งออกข้าวให้ได้มากขึ้นเพื่อยกระดับราคาข้าวในประเทศ ไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ นอกจากการส่งออกโดยผู้ส่งออกเอกชนตามปกติแล้ว รัฐบาลยังใช้ช่องทางการขายแบบรัฐต่อรัฐเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกด้วยโดยวิธีการเจรจากับผู้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลต่างประเทศและการเข้าประมูลสู้กับรัฐบาลต่างประเทศอื่นที่ส่งออกข้าวในกรณีที่รัฐบาลต่างประเทศใช้วิธีการเปิดประมูล

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคสช.สามารถทำสัญาขายข้าวแบบจีทูจี กับรัฐบาลจีนหลายแสนตัน และเข้าร่วมประมูลส่งมอบข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์และชนะการประมูลประมาณสองแสนตัน

จากการที่รัฐบาล คสช.สามารถทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีนและชนะการประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สามารถทำให้ไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น ช่วยรักษาและยกระดับราคาข้าว แต่ก็มีอดีตนักการเมืองบางคนแสดงความเห็นและให้ข่าวต่อสื่อว่า การที่รัฐขายข้าวแบบจีทูจีเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น

ประเทศไทยผลิตข้าวเป็นข้าวสารประมาณปีละ 22 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศประมาณ11 ล้านตัน จึงมีข้าวส่วนเกินประมาณ11ล้านต้น ข้าวส่วนเกินจึงต้องมีการส่งออกไปขายต่างประเทศ หากไม่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ หรือไม่สามารถส่งออกได้ไม่หมด ก็จะมีข้าวส่วนเกินเป็นสต๊อกกองอยู่ภายในประเทศ จะส่งผลระทบต่อราคาข้าวภายในประเทศที่จะตกต่ำเพราะมีปริมาฯเกินความต้องการ จะมีผลต่อรายได้ที่ชาวนาจะได้รับด้วย การส่งออกข้าวจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาข้าวภายในประเทศ หากส่งออกได้มากและราคาดีจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูง ชาวนาก็จะมีรายได้ดีจากการขายข้าวที่เก็บเกี่ยวได้

การส่งออกข้าวของไทย รัฐบาลปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ค้าส่งออกที่อาจเรียกได้ว่าอย่างเสรีเกือบ 100% รัฐจะมีส่วนส่งออกเฉพาะกรณีการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีเท่านั้น ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลก็ได้ใช้ช่องทางการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเพื่อส่งเสริมและเพิ่มปริมาณการส่งออกมาตลอด ยกเว้นในบางรัฐบาลที่มีการทุจริต ทำสัญญาขายข้าวจีทูจีให้รัฐบาลจีนที่ไม่เป็นความจริง ไม่มีการส่งออกแต่นำข้าวที่อ้างว่าขายแบบจีทูจีวนขายในประเทศหาประโยชน์เพื่อตนเอง

การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ คือการที่รัฐบาลต่างประเทศตกลงทำสัญญาซื้อข้าวกับรัฐบาลไทย ซึ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุหลายกรณี อาทิ กรณีเป็นนโยบายของรัฐบาลต่างประเทศ ต้องจัดหาข้าวไว้ในสต๊อกให้มีสำรองอย่างพอเพียง ไม่ให้เกิดการขาดแคลน กรณีเช่นนี้ รัฐบาลต่างประเทศอาจจะซื้อข้าวจากเอกชนตามปกติทางการค้าก็ได้ แต่บางประเทศบางสถานการณ์ รัฐบาลต่างประเทศนั้นจะเลือกซื้อแบบจีทูจีกับรัฐบาลผู้ส่งออก เพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับมอบข้าวตามปริมาณและคุณภาพตามที่ตกลงกัน ไม่ว่าสถานการณ์การค้าข้าวจะเป็นอย่างไร โดยอาจใช้วิธีการเจรจา ทำความตกลงซื้อขายกับรัฐบาลไทย หรือใช้วิธีเปิดประมูล และรัฐบาลไทยได้เข้าประมูล เสนอราคาสู้กับประเทศผู้ส่งออรายอื่น และชนะการประมูล หรือ เป็นการค้าต่างตอบแทนที่รัฐบาลไทยซื้อสินค้าหรือบริการจากประเทศผู้นำเข้า รัฐบาลประเทศนำเข้าจึงซื้อข้าวเป็นนการต่างตอบแทนหรือ เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ประเทศไทยมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจาและลงนามในสัญญา แต่ก่อนเคยมีกรณีเมื่อเจรจาเสร็จแล้ว ถึงขั้นตอนการลงนามในสัญญา เคยมีการมอบหมายให้องค์การคลังสินค้าลงนาม แต่ปัจจุบันมอบหมายให้เฉพาะกรมการค้าต่างประเทศเท่านั้น

สำหรับรัฐบาลของต่างประเทศส่วนใหญ่จะมอบอำนาจให้องค์กรหรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่จัดหาและสำรองข้าวให้พอเพียงต่อการบริโภคของประชาชน หรือมีหน้าที่จัดหาซื้อขายสินค้าเกษตร เป็นผู้เจรจาและลงนามในสัญญา เช่นประเทศจีนมอบหมายให้ บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ชื่อ China National Cereals,Oils and Foodstuffs Corporation.(COFCO) เป็นผู้เจรจาและลงนามในสัญญา อินโดนีเซีย องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายคือ BULOG ฟิลิปปินส์คือ National Food Agency: NFA อิหร่าน คือ Government Trading Company : GTC

การจัดหาข้าวส่งมอบให้รัฐบาลต่างประเทศที่ซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยนั้น ปัจจุบันใช้วิธีมอบหมายให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรับผิดชอบจัดสรรให้ผู้ส่งออก ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยผู้ส่งออกที่ได้รับการจัดสรรต้องจัดหาซื้อข้าวในตลาดตามชนิดและคุณภาพที่รัฐบาลตกลงไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ หากรัฐมีข้าวอยู่ในสต๊อกจะไม่ใช้วิธีให้ผู้ส่งออกขึ้นเงินตามแอลซี แต่ใช้วิธีใช้ข้าวในสต๊อกส่งมอบให้ผู้ส่งออกเป็นการแลกเปลี่ยนตามอัตราที่ตกลงกัน เพื่อเป็นการระบายสต๊อกไปด้วย และส่งเงินตามแอลซีเข้าคลัง เหตุที่ไม่นำข้าวในสต๊อกมาปรับปรุงแล้วส่งมอบ เพราะรัฐบาลต่างประเทศที่ซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย ส่วนมากเกือบทั้งหมดจะไม่ยอมรับมอบข้าวเก่า หากรัฐไม่มีข้าวในสต๊อก ก็ให้ผู้ส่งออกขึ้นเงินตามแอลซี ตามปริมาณที่ส่งมอบ ทั้งนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยต้องรับผิดชอบดูแลกวดขันให้ผู้ส่งออกที่ได้รับการจัดสรรส่งมอบข้าวที่มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานที่รัฐตกลงขายไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการส่งมอบข้าวให้รัฐบาลจีนที่เข้มงวดเรื่องคุณภาพข้าวและเรื่องข้าวเก่ามาก

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่รัฐขายข้าวแบบจีทูจี รัฐไม่ได้กระทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นการเสริมการส่งออกข้าวไทย ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือเอกชนผู้ส่งออก และมีผลเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงสี เพราะผู้ส่งออกต้องไปซื้อข้าวากโรงสี เพื่อส่งมอบ เมื่อตลาดมีความต้องการข้าวย่อมส่งผลให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด ส่งผลถึงชาวนาที่จะขายข้าวได้ราคาดีขึ้นด้วย การที่รัฐขายข้าวแบบจีทูจี จึงไม่มีลักษณะเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน แต่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกข้าวไทยโดยรวมเป็นประโยชน์สาธารณะไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ที่มา : bangkokbiznews.com / คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "ค้าๆขายๆกับกฎหมายธุรกิจ"

สกล หาญสุทธิวารินทร์

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643469

bottom of page