top of page

         หน้าแรก  > ข่าวสาร > การระบายข้าวและการขายข้าวจีทูจีในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน

การระบายข้าวและการขายข้าวจีทูจี

ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน

30014.png

             เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ หน้าที่เร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการเรื่องข้าวคือ การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วที่มีประมาณ 17 ล้านตันเศษ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ จากค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ค่าดอกเบี้ย ประมาณวันละ 64 ล้านบาทเศษ และลดความเสียหายจากข้าวที่จะเสื่อมลง และไม่ให้มีสต๊อกข้าวที่กดราคาข้าว ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยใช้ วิธีการระบายข้าวที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ดีที่สุดคือการประมูล

เนื่องจากข้าวในสต๊อกของรัฐดังกล่าว มีเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นข้าวที่ถูกต้องตามมาตรฐาน นอกนั้นเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐาน มีทั้งผิดมาตรฐานมาก เป็นข้าวเสื่อม เป็นข้าวผิดชนิด ซึ่งทำให้บริหารจัดการระบายข้าวเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ต้องแยกข้าวที่จะระบายเป็นกลุ่ม ข้าวที่ถูกต้องตามมาตรฐานและที่ผิดมาตรฐานน้อยอยู่ในวิสัยปรับปรุงคุณภาพได้ไม่ยาก ก็ระบายเป็นข้าวเพื่อการบริโภค ส่วนข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก ข้าวเสื่อม ข้าวผิดชนิด ไม่เหมาะที่จะนำไปบริโภค ถึงแม้บางส่วน จะนำไปบริโภคได้ แต่ก็มีปัญหาในการคัดแยกซึ่งต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการคัดแยกมาก ก็จำเป็นต้องระบายเป็นข้าวที่ไม่เหมาะแก่การบริโภค แม้การระบายข้าวในสต๊อกดังกล่าวจะเต็มไปด้วยปัญหา ยุ่งยาก แต่ก็สามารถประมูลขายข้าวในสต๊อกได้หมดแล้ว การประมูลล่าสุดและน่าจะเป็นล็อตสุดท้าย หรือเกือบสุดท้าย คือการประมูลเมื่อเดือน ก.ย.2561 ประมาณ 1.5 แสนตัน การดำเนินการที่ยังจะต้องทำต่อไปคือ การควบคุมดูแลการรับมอบข้าวตามที่ผู้ชนะการประมูลได้ทำสัญญาไว้ และการกำกับดูแลไม่ให้มีการนำข้าวไปลักลอบขายเป็นข้าวบริโภคหรือปนกับข้าวที่ส่งออก รวมทั้งให้อคส.และอตก.ที่มีหน้าที่เก็บรักษาข้าวตรวจสอบเป็นขั้นสุดท้าย ที่อาจมีข้าวค้างสต๊อกที่มีการผิดพลาดไม่มีการลงบัญชีไว้ ว่ามีอีกจำนวนเท่าใด เพื่อบริหารจัดการไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรัฐต่อไป

อันเนื่องมาจากประเทศไทยผลิตข้าวเป็นข้าวสารปีละประมาณ 22 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศประมาณปีละ 11 ล้านตัน ที่เหลือต้องส่งออก การการส่งออกข้าวจึงมีผลสำคัญต่อราคาข้าวภายในประเทศที่ชาวนาจะได้รับจากการขายข้าวเปลือก กล่าวคือถ้าปีใดส่งออกข้าวได้มากและได้ราคาดีก็จะมีผลทำให้ราคาข้าวภายในประเทศสูงขึ้น

การส่งออกข้าวของไทยโดยหลักใหญ่จะเป็นการดำเนินการของผู้ส่งออกเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกไปจำหน่ายให้แก่เอกชน มีบางส่วนที่ผู้ส่งออกเอกชนส่งไปจำหน่ายให้รัฐบาลของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งจะเป็นกรณีที่รัฐบาลประเทศผู้ส่งออก ติดต่อซื้อจากเอกชนโดยตรงหรือเปิดประมูลให้ผู้ส่งออกเอกชนในประเทศต่างๆ เข้ายื่นประมูลและผู้ส่งออกเอกชนไทยชนะการประมูล

นอกจาก การส่งออกข้าวของผู้ส่งออกเอกชนแล้ว การขยายการส่งออกข้าวที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ คือการขายข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศ ที่เรียกว่า จีทูจี (Government to Government) ซึ่งมี 2 กรณี คือกรณีที่รัฐบาลต่างประเทศติดต่อเจรจาขอซื้อกับรัฐบาลบาลไทย หรือกรณีที่รัฐบาลต่างประเทศเปิดการประมูลซื้อข้าว โดยให้รัฐบาลประเทศที่ส่งออกข้าว เข้าประมูลเสนอราคาและรัฐบาลไทยเข้าร่วมประมูล และชนะการประมูล

ในการซื้อขายข้าวจีทูจี รัฐบาลต่างประเทศจะมอบหมายให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายเจรจาในรายละเอียด ลงนามในสัญญา และดำเนินการในขั้นปฏิบัติ ส่วนมากจะเป็นเป็นหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ซื้อขายสินค้าเกษตร หรือมีหน้าที่จัดหาจัดซื้อ หรือสำรองอาหาร เช่นประเทศจีนมอบหมายให้ บริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ชื่อ China National Cereals,Oils and Foodstuffs Corporation.(COFCO) อินโดนีเซีย คือ BULOG ฟิลิปปินส์คือ National Food Agency: NFA อิหร่าน คือ Government Trading Company : GTC เป็นต้น สำหรับหน่วยงานของไทยที่มีหน้าที่และได้รับมอบหมายคือ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

เทอมการส่งมอบที่ผ่านมา สำหรับการซื้อขายที่เป็นจีทูจีจริงมี 2  เทอม คือ เอฟโอบี หรือ ซีไอเอฟ ซึ่งเป็นเทอมการส่งมอบที่นิยมและเหมาะสำหรับการค้าระหว่างประเทศ แต่ส่วนมากจะเป็นเอฟโอบี เพราะประเทศผู้ซื้อสามารถจัดหาเรือเองได้ ถ้าหากเป็นประเทศที่มีสายการเดินเรือหรือกองเรือของตนเอง จะสามารถใช้เรือของสายการเดินเรือของประเทศตนเองได้

ส่วนเทอมการชำระเงินจะเป็นการเปิดแอลซีที่เป็นเทอมการชำระเงินการค้าระหว่างประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ช่วงที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลปัจจุบันได้ขายข้าวจีทูจีให้รัฐบาลต่างประเทศและส่งมอบแล้ว ดังนี้

การขายข้าวให้รัฐบาลจีน โดย COFCO โดยการเจรจา

ปี 2558 ปริมาณ 464,300 ตัน

ปี 2559 ปริมาณ 335,950 ตัน

ปี 2560 ปริมาณ 300,000 ตัน

ปี 2561  (ณ วันที่ 11 ธันวาคม ปริมาณ 211,100 ตัน)

ข้าวที่ขายให้รัฐบาลจีน มีทั้งข้าวขาว5% ข้าวหอมมะลิไทย และปลายข้าวหอมมะลิไทย แต่ส่วนมากเป็นข้าวขาว 5%

การขายข้าวให้รัฐบาล อินโดนีเซีย โดย BULOG โดยการเจรจาปี 2558 ปริมาณ 248,273 ตัน ปี2559 ปริมาณ 230,907 ตัน ซึ่งมีทั้งข้าวขาว 5%  และข้าวขาว 15% การขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยNFA  โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดประมูล และรัฐบาลไทยโดยกรมการค้าต่างประเทศ เข้าร่วมเสนอราคาในการประมูล และชนะการประมูล ปี 2561 ข้าวขาว 25% ปริมาณ 130,000 ตัน

ข้าวจีทูจี ที่รัฐบาลไทย ต้องส่งมอบให้ รัฐบาลจีน โดย COFCO รัฐบาลอินโดนีเซียโดย BULOG รัฐบาลฟิลิปปินส์โดย NFA ได้กำหนดไว้ในสัญญาโดยชัดเจนว่าต้องเป็นข้าวใหม่เท่านั้น รัฐบาลจึงต้องกวดขันเคร่งครัดคุณภาพข้าวที่ส่งออกให้รัฐบาลประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะต้องไม่มีข้าวเก่าเจือปนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียตลาดที่สำคัญไปให้ประเทศคู่แข่งได้

ที่มา : bangkokbiznews.com / คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "ค้าๆขายๆกับกฎหมายธุรกิจ"

สกล หาญสุทธิวารินทร์

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643469

bottom of page