top of page

การฟื้นฟูกิจการและการแปลงหนี้เป็นทุน

 

กฎหมายล้มละลายตราออกมาบังคับใช้ เพื่อให้เจ้าหนี้มีช่องทางจัดการกับหนี้สินของลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ใช้บังคับปัจจุบันคือ

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย พ.ศ.2483 หลักการคือเจ้าหนี้ต้องฟ้องลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นคดีล้มละลาย เมื่อมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด และพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย จะมีการดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ ออกขายทอดตลาดเพื่อแบ่งเงินให้เจ้าหนี้ต่อไป ในปี พ.ศ.2541 ได้มีการตราพ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่4) พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติมเป็นหมวด 3/1 กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มาตรา 90/1 ถึงมาตรา 90/90 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 10 เมษายน 2541 เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ฟื้นฟูกิจการ โดยเปิดช่องให้สถาบันทางการเงินหรือเอกชนสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้นิติบุคคลที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว เพื่อให้ฟื้นฟูกิจการได้

ต่อมา ในปี 2559 ได้มีการตราพ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2559 แก้ไขเพิ่มเติม เป็นหมวด 3/2 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาตรา 90/91 ถึงมาตรา 90/128 แห่งพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีหนี้ไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ที่มีหนี้ไม่น้อยกว่าสามล้านบาท และบริษัทจำกัดที่มีหนี้ไม่น้อยกว่าสามล้านบาทแต่ไม่ถึงสิบล้านบาท ที่ไม่อยู่ในสถานะชำระหนี้ได้ และมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางฟื้นฟูกิจการได้ ให้สามารถเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการตามที่บัญญัติในหมวด 3/2 ได้

สำหรับบทบัญญัติในหมวด.3/1กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ 

ลูกหนี้ ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ คือลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนียนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

ผู้มีสิทธิยื่นคำขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้คือ

           - เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันที่มีจำนวนหนี้ที่แน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

           - ลูกหนี้เอง

         - หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการบางประเภทของนิติบุคคล เช่นธนาคารแห่งประเทศไทย กลต. คปภ. เมื่อลูกหนี้เป็นผู้ประกอบกิจการในการกำกับดูแล

ทั้งนี้เจ้าหนี้ของลูกหนี้หรือลูกหนี้ที่ประกอบกิจการที่มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานของ

จะยื่นคำร้องด้วยตนเองได้เมื่อได้รับคำยินยอมจากหน่วยงานของรัฐนั้นแล้ว

การยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ

คำขอต้องแสดง ถึงข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/6 ที่สำคัญคือ เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนและหนังสือยินยอมเป็นผู้ทำแผน ทั้งนี้ผู้ทำแผนจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้

การคุ้มครองลูกหนี้

เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครองโดยผลของกฎหมาย 10 ประการ ที่สำคัญคือ ห้ามมิให้มีการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ห้ามเจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายมิให้บังคับชำระหนี้ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ หรือเงื่อนไข ติดตามเอาคืนทรัพย์สินดังกล่าวในความครอบครองของลูกหนี้หรือบุคคลที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ ห้ามมิให้ผู้ให้บริการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้

ข้อห้ามลูกหนี้

ห้ามลูกหนี้จำหน่ายจ่ายโอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดฯที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้

การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ

เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ตามมาตรา90/26ถึงมาตรา90/33 ผู้ที่ซื้อหุ้นกู้ไว้ต้องยื่นคำขอชำระหนี้ตามบทบัญญัตินี้ มิฉะนั้นจะเสียสิทธิ ถ้าเป็นหุ้นกู้บริษัทมหาชนจำกัด อาจชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดก็ได้

การตั้งผู้ทำแผน

ศาลจะเห็นชอบตั้งผู้ทำแผนตามที่ผู้ยื่นคำร้องเสนอหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาลเห็นไม่สมควรต้องมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน แล้วเสนอให้ศาลให้ความเห็นชอบต่อไป

อำนาจการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้

ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน อำนาจบริหารกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารลูกหนี้เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลจะแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารชั่วคราวภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะจะมีการตั้งผู้ทำแผน ถ้ายังไม่มีผู้บริหารชั่วคราวก็ให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการเป็นการชั่วคราว

กรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน

การให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

แผนฟื้นฟูกิจการต้องได้รับความเห็นชอบจากจากมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเสนอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ต่อไป ทั้งนี้แผนต้องมีรายการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา90/42(1)ถึง(9)เป็นอย่างน้อย โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกินห้าปี ในระหว่างการดำเนินการตามแผนก็อาจมีการแก้ไขแผนให้เหมาะสมตามความเห็นชอบของผู้เกี่ยวข้อง และศาล 

ผลการดำเนินการตามแผน

ถ้าสำเร็จตามแผน ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ยกเว้นส่วนที่มีการยื่นขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว และกลับมา ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ถ้าไม่สำเร็จ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ลมละลาย จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด  ถ้าเห็นไม่สมควรจะสั่งยกเลิกการฟื้นฟู

บทสรุป การที่เจ้าหนี้ฟ้องให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวให้เป็นบุคคลล้มละลาย จุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาด นำเงินมาแบ่งชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการยื่นคำขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่เพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อให้กิจการนั้นยังคงดำเนินการต่อไปได้ การฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายมีข้อดี คือเป็นการฟื้นฟูกิจการภายใต้อำนาจศาล ตามบทบัญญัติของกฎหมาย มีการกำกับดูแลโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคณะกรรมการเจ้าหนี้

ที่มา : bangkokbiznews.com / คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "ค้าๆขายๆกับกฎหมายธุรกิจ"

 

สกล หาญสุทธิวารินทร์

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/650231

bottom of page